เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลา 10.40 น. ที่ ห้องประชุม เดอะ โซไซตี้ ชั้น 22 อาคารเกษร ทาวเวอร์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีเปิดงาน “วันข้อมูลเปิด นานาชาติ ประจําปี พ.ศ. 2564” โดยมี นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และคณะผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วม และพร้อมด้วย นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ และคณะทำงานมูลนิธิร่วมด้วย
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยการนําเอาเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน สําหรับข้อมูลเปิดถือเป็นทรัพยากรที่สําคัญที่จะนํามาใช้ในการวิเคราะห์พัฒนาบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองต่อการให้บริการและการอํานวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการดํารงชีวิตสู่สังคมดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้า และบริการผ่านระบบดิจิทัล การทําธุรกรรมออนไลน์ และการประชุมออนไลน์
การส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ จัดทําข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อนํามาเปิดเผยในรูปแบบข้อมูลเปิด หรือ Open Data ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐนั้น ถือเป็นกลไกสําคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างและกระบวนการบริหารงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มความโปร่งใสเกิดการมีส่วนร่วม ลดการทํางานที่ซ้ำซ้อนและเพื่ออํานวยความสะดวกในการนําข้อมูลไปใช้ รวมทั้งยกระดับการทํางานของรัฐ พร้อมทั้งควรผลักดันให้เกิดการสร้าง API ของชุดข้อมูลเปิด และการเปิดเผยชุดข้อมูลเปิดภาครัฐที่มีคุณค่าสูง ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลเปิดนั้น เป็นเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสําคัญ จึงมีการจัดกิจกรรม International Open Data Day ขึ้นพร้อมกันทุกประเทศทั่วโลก เพื่อให้คนที่สนใจเกี่ยวกับข้อมูลแบบเปิด หรือ (Open Data) ได้ทําการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเปิดเผยข้อมูลและการสร้างชุมชนผู้ใช้ข้อมูล หรือ (Data Community Engagement)ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ด้านการนําข้อมูลภาครัฐไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป
เหตุนี้จึงสรุปผลได้ว่า การจัดงานครั้งถือเป็นนิมิตรหมายที่สําคัญในการประกาศว่าหน่วยงานภาครัฐจะปฏิรูประบบข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลเพื่อการสร้างเครื่องมือในการบริการสาธารณะใหม่ ๆ และที่สําคัญคือการสร้างความโปร่งใสการมีธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะนโยบาย สามารถตรวจสอบการทํางานของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมในการเปิดเผยและเชื่อมโยงข้อมูลที่มีคุณค่าต่อสวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนและคาดหวังว่าจะเกิดความร่วมมือด้านข้อมูลระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไป
Share:
ที่มา การจัดตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย“มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย” หรือ “Intelligent Traffic Information Center” (iTIC) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ได้รับอนุมัติการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทย
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย
ห้อง 704 ชั้น 7 อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 254 ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 02-218-6450