เริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลจราจรสาธารณะจากกล้อง CCTV ของกองบังคับการตำรวจจราจร กรุงเทพมหานคร และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มาผสมผสานกับข้อมูลจาก Taxi probe, Bus probe, Logistic probe และ Mobile Phone probe ที่สามารถระบุตำแหน่ง และความเร็วของรถได้ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผล โดยมูลนิธิฯ (Tier-1) จะแปลงข้อมูลพร้อมกับจัดระบบข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน และมีประสิทธิภาพสูงพร้อมสำหรับการรายงานสภาพจราจรแบบ Real time
หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปที่ Tier-2 ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่กระจายข้อมูลไปยังผู้ใช้โดยผ่านช่องทางหลายรูปแบบ ได้แก่ การกระจายข้อมูลผ่านระบบ GPRS ด้วยอุปกรณ์ที่สามารถรับข้อมูลได้คือ โทรศัพท์มือถือ สำหรับการกระจายข้อมูลโดยผ่านระบบ ADSL สามารถรับข้อมูลสภาพการจราจรโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อทางอินเทอร์เนตโดยผู้ใช้สามารถเข้าไปดูรายงานสภาพจราจรบน Digital Map ได้ที่ www.iticfoundation.org/home
นอกจากนี้ มูลนิธิฯยังมีช่องทางการกระจายข้อมูลผ่านทางคลื่นวิทยุ FM Multiplex โดยได้รับความร่วมมือจากสถานีวิทยุทหารอากาศ 102.5 MHz และสถานีวิทยุทหารเรือ 88.5 MHz โดยจะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า RDS-TMC (Radio Data System – Traffic Message Channel) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยผู้ใช้สามารถรับการรายงานสภาพการจราจรได้โดยใช้อุปกรณ์ Navigator ที่ติดรถยนต์ หรือแบบพกพา ในรุ่นที่รองรับระบบดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่า Airtime
นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ หน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทเอกชน ที่ทำหน้าที่เป็น Tier 2 เหล่านั้น ก็จะนำข้อมูลจราจรจากมูลนิธิฯ ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เพิ่มระบบ Points of Interest ก่อนส่งต่อไปยังผู้ใช้ปลายทางได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในระยะแรก ข้อมูลจราจรที่ได้อาจเน้นไปที่กรุงเทพฯ ปริมลฑล และทางหลวงระหว่างจังหวัดเป็นหลัก แต่ในอนาคต ทางมูลนิธิฯ ก็มีแผนการดำเนินงานที่จะต่อยอดให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
ที่มา การจัดตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย“มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย” หรือ “Intelligent Traffic Information Center” (iTIC) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ได้รับอนุมัติการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทย
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย
ห้อง 704 ชั้น 7 อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 254 ถ.พญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 02-218-6450